วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

The Lady (2011): อองซานซูจี ผู้หญิงท้าอำนาจ



The Lady (2011)
ความยาว 132 นาที ประเภท Biography | Drama เรตติ้ง IMDb : 6.8
ผู้กำกับ : Luc Besson
เนื้อเรื่อง/เขียนบท : Rebecca Frayn
ดารานำแสดง : Michelle Yeoh, David Thewlis และ Jonathan Raggett --

เชื่อว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่หลายคนรอคอย ไม่ว่าจะเป็นคอประวัติศาสตร์ คอหนัง หรือแฟนคลับของมิเชล โหย่ว และฉันเป็นทั้ง 3 อย่างเลย จึงพลาดไม่ได้ในการรอชมภาพยนต์เรื่องนี้ ซึ่งระหว่างรอก็ได้ชมตัวอย่างที่ตัดต่อได้อย่างอลังการงานสร้างมากๆ ดูขลัง และมีพลังอย่างบอกไม่ถูก ยิ่งได้ดารานำที่มีใบหน้าท่าทางเหมือนตัวจริงด้วยแล้วยิ่งส่งเสริมให้ดูมีพลังเข้าไปกันใหญ่

ทุกคนคงคาดหวังว่าหนังอาจจะเล่าเรื่องราวชีวิตในของอองซานซูจีในด้านที่เราๆ ไม่รู้กัน (หมายถึงในแง่การเมืองของพม่า) แต่เอาเข้าจริงแล้ว หนังไม่ได้เล่าเพิ่มจากเดิมที่เราๆ ล้วนรู้กันนัก ถ้าหากอยากรู้เรื่องการเมืองพม่าอย่างที่หนังเล่า เราสามารถเสิร์ชกูเกิ้ลหาอ่านได้ แถมอาจจะรู้มากกว่าหนังเล่าเสียอีก .. แต่หนังเล่าให้เรามองเห็นมิติชีวิตด้านอื่นๆของเธอ ในแง่ของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีบทบาทในฐานะลูกสาว เมีย และแม่

อองซาน ซูจี (Michelle Yeoh) ในวัยยังเป็นเด็กหญิงอายุ 2 ขวบ ขณะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ในย่างกุ้ง เมืองหลวงของพม่า ต้องพบเจอเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดในชีวิต เมื่อกลุ่มทหารลุกขึ้นมาปฏิวัติ พวกเขาลอบสังหารบิดาของเธอ ซึ่งก็คือ นายพลอองซาน ผู้ซึ่งได้รับสมญานามว่า “วีรบุรุษเพื่ออิสรภาพของประเทศพม่า" มารดาจึงต้องเลี้ยงดูเธอ และลูกคนอื่นตามลำพัง

 หนังตัดฉากมาที่อองซานในวัยสาวใหญ่ แต่งงานกับศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย ไมเคิล ( David Thewlis) มีลูกชายวัยรุ่น 2 คน พวกเขาอาศัยอยู่ที่อังกฤษ (หนังไม่ได้เล่าประวัติช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งความจริงอองซานไปอยู่กับมารดาที่อินเดียในระยะต้นๆ และเมื่อเรียนจบจากอินเดียก็ไปเรียนต่อที่ออกซ์ฟอร์ด จนได้พบกับสามี)

ในปี 2531 อองซานในวัย 43 ปี ได้รับข่าวว่ามารดากำลังป่วย จึงเดินทางมาที่พม่าอีกครั้งเพื่อดูแลเธอ และขณะนั้นเศรษฐกิจของพม่าตกต่ำ อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองของพม่ากำลังวุ่นวายมาก มีการกดดันให้นายพลเนวินต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า จุดเริ่มต้นมาจากการที่ประชาชนไม่พอใจต่อระบอบเนวิน โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

ประชาชนเริ่มมีการก่อการประท้วง และยิ่งปะทุความรุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อตำรวจลงมือใช้ความรุนแรง ตอบโต้ด้วยการยิงใส่กลุ่มผู้ประท้วง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งยังจับกุม นักศึกษานับพันคนไปจากการชุมนุม ก่อให้เกิดความไม่พอใจ ในหมู่นักศึกษาประชาชน และขยายไปทั่วประเทศ มีการประท้วงในพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก จนเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่กดดันให้นายพลเนวินต้องประกาศลาออก การลาออกของนายพลเนวินใน วันที่ 23 กรกฎาคม ตามมาด้วยการชุมนุม เรียกร้องประชาธิปไตย ของนักศึกษา และประชาชนหลายแสนคนในเมืองหลวงย่างกุ้ง และแผ่ขยายไปทั่วประเทศ

ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ประชาชนนับล้านรวมตัวกันในเมืองร่างกุ้ง อันเป็นเมืองหลวงของประเทศพม่า เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การประท้วงแผ่ขยายไปทั่วประเทศ ผู้นำทหารได้สั่งการให้ใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุม ทำให้ผู้ร่วมชุมนุมหลายพันคนเสียชีวิต ออง ซาน ซูจี เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2531 โดยเธอได้รับการทาบทามจากอาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัย พวกเขายังศรัทธาในตัวบิดาของเธอ จึงหวังว่าเธอจะเป็นผู้ที่เข้ามาสานต่อในสิ่งที่บิดาได้ก่อร่างสร้างไว้ให้กับพม่า 

อย่างที่รู้กันว่าขึ้นหลังเสือแล้วจะลงก็ไม่ได้ อองซานก็เช่นเดียวกัน เธอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ชีวิตทางการเมืองของนางออง ซาน ซูจี จึงได้เริ่มต้นนับแต่นั้น ซึ่งทำให้เธอได้รับผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลเผด็จการใช้อำนาจเผด็จการภายใต้กฎอัยการศึก สั่งกักบริเวณซูจีให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็น ครั้งแรก เวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ซึ่งต่อมาขยายเป็น 6 ปีโดยไม่มีข้อหา

 อองซาน ไม่ได้พบกับสามี และลูกๆ อีกเลยนับจากนั้น แม้กระทั่งเมื่อสามีป่วยเป็นโรคมะเร็ง และเสียชีวิต เธอก็ยังไม่สามารถไปอยู่ดูแลเขาได้ เธอต้องเสียสละอย่างมากเป็นเวลายาวนานในการต่อสู้นี้ จนในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เธอได้รับการปล่อยตัวจากรัฐบาลทหารพม่า และในปีเดียวกัน เธอได้พบกับบุตรชายคนเล็กครั้งแรก โดยเธอได้รอรับบุตรชายที่สนามบินมิงกะลาดงถือเป็นครั้งแรกที่เธอได้อยู่ร่วมกับครอบครัว แม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม..

 the lady .. เป็นหนังที่พยายามเล่าเรื่องการเมืองเท่าที่เล่าได้ แน่นอนว่าในช่วงการที่การเมืองพม่ายังไม่เสถียรนี้ อาจจะต้องระมัดระวังเพื่อไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งใดๆ ข้อมูลที่หนังเล่าจึงเป็นข้อมูลที่เลือกแล้วว่าเป็นข้อมูลเปิด ที่เราสามารถเสิร์ชหา่อ่านได้ทั่วไป หากหวังว่าจะได้รับรู้ข้อมูลลึกๆ กว่านี้ ฉันเกรงว่าเราคงจะต้องรอดูกันยาวในยุคเจเนเรชั่นหน้าก็เป็นได้ ดังนั้นเรื่องราวในหนังจึงเป็นเรื่องราวกว้างๆ และอาจจะไม่ได้เป็นข้อมูลใหม่เลยด้วยซ้ำ ทั้งเรื่องส่วนตัว และเรื่องการต่อสู้ของเธอ ถ้าหากจะหวังอะไรกับหนังเรื่องนี้ คงเป็นการได้เห็นออง ซาน ซูจี แบบเคลื่อนไหวได้ มีอารมณ์ มีความรู้สึก ซึ่งมิเชลล์ โหย่ว สามารถกอปปี้ออกมาได้สมจริง และดูมีเลือดเนื้อกว่าอองซานที่เราเห็นจากสื่อต่างๆ ..

 -- ขอบคุณ: ข้อมูลจาก ออง ซาน ซูจี - วิกิพีเดีย

 The Lady (2011) Movies Trailer :

2 ความคิดเห็น :

  1. พอดีดู The Iron Lady ไปก่อนหน้าเรื่องนี้พักหนึ่ง เลยรู้สึกว่าพอก่อนสำหรับหนังสตรีเหล็ก แต่เท่าที่เปิดดูผ่านๆ ก็รู้เลยครับว่าเจ๊เขาเล่นดีจริงๆ ประจวบเหมาะกับที่ช่วงนี้นางอองซานตัวจริงได้เดินสายไปทั่วโลก ผมไม่ค่อยได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับเธอเท่าไหร่ยังรู้สึกชื่นชมและนับถือเลยครับ :)

    ปล.เอ้อไม่รู้คุณเคยฟังเพลง Unplay Piano ของ Damien Rice หรือยัง เป็นเพลงเพราะๆ ที่เขาแต่งเกี่ยวกับนางอองซาน ถ้ายังไม่เคยฟังก็ลองดูนะครับ :)

    http://www.youtube.com/watch?v=NgQUBecM7OM

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณค่ะ สำหรับเพลงเพราะๆ ^^ ส่วนหนังถ้าไม่นับว่าได้ชมฝีมือการแสดงของมิเชลล์ละก็ ในความคิดขิง คิดว่าหนังไม่ค่อยสนุกค่ะ สนุกในที่นี้คือ ไม่มีอะไรน่าจดจำเ่ท่าไหร่อ่ะค่ะ ดูเพลินๆ พอไหว

    ตอบลบ